ในการติดต่อสื่อสาร มีหลากหลายช่องทางให้เลือกใช้ และการติดต่อผ่านทางโทรศัพท์ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่เราจะต้องได้ใช้งานกันอย่างแน่นอนโดยเฉพาะคนที่ทำงานร่วมกับคนญี่ปุ่น ดังนั้น การรู้จักภาษาญี่ปุ่นที่ใช้ในการรับโทรศัพท์ หรือรับสายจึงเป็นสิ่งจำเป็น เพราะ การสร้างความประทับใจให้แก่คู่สนทนานั้น เกิดขึ้นได้ตั้งแต่คำแรกที่ทักทาย ในบทความนี้ เอริเลยขอนำเสนอ ประโยคง่าย ๆ ในภาษาญี่ปุ่น ที่ใช้สำหรับการรับโทรศัพท์ในหลากหลายสถานการณ์ ไปฝึกใช้งานพร้อม ๆ กันได้เลยค่ะ
การรับโทรศัพท์ หรือรับสาย ต้องดูบริบทของการสนทนาด้วย
ประเทศญี่ปุ่นนั้นขึ้นชื่อเรื่องการวางลำดับขั้นและการนับถือผู้อาวุโสเป็นอย่างมาก ในตัวภาษาเองก็มีการแฝงวัฒนธรรมในข้อนี้เอาไว้ จึงทำให้การเลือกคำเพื่อมาใช้งานในแต่ละสถานการณ์เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและควรระมัดระวัง แต่อย่างไรก็ตาม เราสามารถจดจำประโยคง่าย ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อนำไปเลือกใช้ในสถานการณ์หลัก ๆ ได้ ถ้าเรายังเป็นผู้เรียนระดับพื้นฐาน หรือยังไม่มีความชำนาญในด้านภาษาญี่ปุ่นมากเท่าไหร่นัก ประโยคเหล่านี้ช่วยได้ค่ะ
もしもし・・・
โมชิโมชิ (หรือคนญี่ปุ่นจะออกเสียงว่า โมชิโมช) เป็นคำทักทายที่เราจะได้ยินในอนิเมะญี่ปุ่น หรือซีรีส์ญี่ปุ่นบ่อยที่สุด เป็นคำทักทายอย่างง่าย ๆ ที่สามารถใช้นอกเหนือจากบริบทของการรับโทรศัพท์ได้ด้วยเช่นกัน อาจจะใช้เมื่อใครบางคนไม่ได้ยิน ไม่ตั้งใจฟัง ดูเหม่อลอย ก็สามารถใช้คำนี้แทนการเรียกให้ได้สติ อารมณ์ประมาณว่า “ฮัลโหลลล ได้ยินมั้ย ฟังอยู่รึเปล่า” คำนี้เหมาะกับการใช้รับสายจากคนที่สนิทสนมกันเช่น เพื่อน ๆ ครอบครัว ใช้รับสายเบอร์แปลกทั่ว ๆ ไป หรือสายจากคนที่อายุมากกว่า ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทำงาน เพราะ ในการทำงานหรือธุรกิจจะมีระดับภาษาที่แตกต่างออกไป และคำว่า もしもし นี้ให้ความรู้สึกสบาย ๆ จึงจะทำให้ดูไม่เป็นทางการหากใช้ในการทำงาน
はい、○○です。
การรับโทรศัพท์แบบสุภาพระดับปานกลาง สามารถใช้ได้ทั่วไป คือการรับด้วยคำว่า “ไฮ่ (ตามด้วยชื่อของตัวเอง) เดส” เทียบกับภาษาไทยก็คือ “ค่ะ….พูดสายค่ะ” ถ้าเบอร์ของเรามักใช้ในเรื่องงานทั่ว ๆ ไป ใช้การตอบรับแบบนี้ก็จะเป็นกลาง ๆ สุภาพ และใช้ได้หลากหลายสถานการณ์ที่สุด
お電話ありがとうございます。○○の○○でございます。
สุภาพและเป็นทางการมาก ๆ เหมาะกับการทำงานเช่น การรับสายเข้าจากลูกค้าของบริษัท โรงแรม หรือกิจการให้บริการในด้านต่าง ๆ “โอะเด็งวะ อะริงะโตโกะซัยมัส (ชื่อบริษัท)โนะ(ชื่อตัวเอง) เดะ โกะซัยมัส” (หรือถ้าสุภาพมาก ๆ อาจจะออกเสียงชัดที่พยางค์สุดท้าย เช่น ออกเสียง มัส เป็น มะสึ” ขอบพระคุณที่โทรเข้ามาค่ะ ดิฉัน…จากบริษัท…ค่ะ การรับโทรศัพท์แบบนี้นอกจากจะสุภาพแล้ว ยังเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อผู้มาใช้บริการ ทำให้ลูกค้ารู้สึกได้ถึงการบริการและใส่ใจ แค่นี้ก็มีชัยไปกว่าครึ่งแล้ว!
ข้อสรุป : การใช้งานจะให้ดีต้องดูสถานการณ์ให้เหมาะสมด้วย
สำหรับการรับโทรศัพท์เป็นภาษาญี่ปุ่น… แม้ว่าเราจะฝึกฝนการฟังพูดมามากมายจนสามารถพูดได้คล่องแคล่ว แต่การเลือกใช้ภาษาให้เหมาะสมกับสถานการณ์ก็เป็นสิ่งจำเป็นเช่นกัน ดังนั้นอย่าลืมฝึกใช้ภาษาหลาย ๆ แบบและหาความรู้เพิ่มเติมอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ใช้ภาษาได้อย่างถูกต้องนะคะ เพราะ การใช้ภาษาได้อย่างถูกต้องจะช่วยให้การสื่อสารของเรามีประสิทธิภาพ และยังสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับตัวผู้ใช้ภาษาได้อีกด้วยค่ะ หากสนใจเรียนภาษาญี่ปุ่นออนไลน์กับเรา สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดคอร์สต่าง ๆ ได้ผ่านทางเพจเรียนภาษาญี่ปุ่นกับเอริได้เลย