เมื่อเราเริ่มสนใจเรียนภาษาใหม่ ๆ สิ่งแรกที่เป็นคำถามผุดขึ้นมาในใจของทุก ๆ คนอย่างแน่นอนคือ “จะเริ่มเรียนตรงไหนดีนะ” ใช่มั้ยล่ะคะ ? ในวันนี้เซ็นเซจะขออาสาพาน้องใหม่ที่สนใจเรียนภาษาญี่ปุ่น ไปค้นหาคำตอบกันว่า “เริ่มเรียนภาษาญี่ปุ่นยังไงดี” “ฝึกภาษาญี่ปุ่นยังไงดี” ในการเรียนภาษาใด ๆ ก็ตาม บ้างก็ว่าควรเริ่มจากการฟังแล้วพูดตามก่อน
ส่วนตัวเซ็นเซเองอยากแนะนำให้ผู้เรียนถามตัวเองค่ะ ว่าการที่เราเรียนจะนำไปใช้งานอะไร การฟังและพูดก่อนก็ทำให้เรานำไปสื่อสารได้ แต่จะดีกว่ามั้ย ถ้าเราสามารถทำได้มากกว่าการท่องจำประโยคไปใช้พูด จะเป็นยังไงถ้าเราสามารถแต่งประโยคด้วยตัวเองได้ โดยไม่ต้องท่องประโยคสำเร็จอย่างเดียว จะดีกว่ามั้ยถ้าเราสามารถออกเสียงภาษาญี่ปุ่นได้เป็นธรรมชาติมากยิ่งขึ้น ใกล้เคียงเจ้าของภาษามากขึ้น และการสื่อสารของเรานั้นมีประสิทธิภาพมากขึ้น ถ้าคิดว่า “ใช่เลย!” แล้วล่ะก็… เซขอแนะนำ “ตัวอักษรฮิรางานะ” เป็นประตูด่านแรกค่ะ
เริ่มต้นฝึกเรียนภาษาญี่ปุ่นยังไงดี ? ทำไมต้องเรียนตัวอักษรฮิรางานะ ?
เสียงในภาษาญี่ปุ่นและภาษาไทยนั้นมีความแตกต่างกันอยู่บ้าง และเนื่องจากเสียงในภาษาญี่ปุ่นบางเสียงไม่มีในภาษาไทย จึงทำให้การถอดคำอ่านเป็นภาษาไทยทำได้ยากในบางครั้ง หรือแม้จะทำได้ ก็อาจทำให้เกิดการออกเสียงที่ไม่ตรงตามต้นฉบับ ส่งผลต่อการสื่อสารเป็นอย่างมาก เมื่อสารที่ต้นทางส่งไปยังปลายทางไม่มีประสิทธิภาพ ย่อมเกิดปัญหาต่อการสื่อสารโดยรวม เช่น การเข้าใจคนละเรื่อง หรือในกรณีที่แย่ที่สุดคือ การสื่อสารนั้นก่อเกิดปัญหาใหญ่หรือความผิดพลาดที่ยากเกินจะแก้ไข
แนะนำให้อ่าน : 20 คำศัพท์ระดับ N3 ใช้บ่อย ใช้สอบก็ได้ ใช้ในชีวิตประจำวันก็ดี
การเรียนตัวอักษรฮิรางานะนั้น ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องนั่งคัดตัวอักษรเพียงอย่างเดียว แต่การเรียนตัวอักษรภาษาญี่ปุ่นนั้นก็เพื่อ “ทำความเข้าใจ” ในส่วนของ “การออกเสียง” (Phonics) ของแต่ละตัวอักษร ตลอดจนเมื่อนำแต่ละเสียงมาประกอบเป็นคำแล้ว จะมีการกร่อนเสียง หรือรวมเสียงอย่างไรบ้าง เมื่อเราเข้าใจจุดการออกเสียงเฉพาะที่มีแค่ในภาษาญี่ปุ่นก็จะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป การสื่อสารของเราย่อมมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นค่ะ
ตัวอย่างเสียงภาษาญี่ปุ่นที่ไม่มีในภาษาไทย
きょ= คโยะ (ออกเสียงคิ แค่เพียงเบา ๆ และควบกับเสียง โยะ)
หากแทนเสียงนี้ด้วยภาษาไทยว่า เคียว ย่อมทำให้การออกเสียงที่แท้จริงผิดเพี้ยนไป ความหมายของคำศัพท์อาจเปลี่ยนไปเป็นคำอื่นได้เลยนะคะ อันตรายมาก ๆ เลยค่ะ
ず= สุ แต่ไม่ใช่ สุ ธรรมดานะคะ เป็น สุ ที่มีเสียงสั่นเทียบเท่ากับตัว z ในภาษาอังกฤษค่ะ ซึ่งเสียงนี้ไม่สามารถแทนด้วยตัวอักษรใดในภาษาไทยได้ (เพราะภาษาไทยเราไม่มีการแยกเสียงใส และเสียงขุ่นค่ะ) เราจะแทนด้วยตัวอะไรเพื่อให้เราเข้าใจเสียงนี้ได้ละ ? ยากเลยเนอะ
ตัวอักษรฮิรางานะ คืออะไร ?
ตัวอักษรฮิรางานะถือว่าเป็นตัวอักษรที่นำมาใช้งานบ่อย พอ ๆ กับคันจิ (ตัวอักษรจีน) มีประโยชน์ในการบอกคำอ่านของคันจิที่อ่านได้ยาก เรียกกันว่า “ฟูริงานะ” จะเห็นได้บ่อยในหนังสือพิมพ์ญี่ปุ่น หรือหนังสือเรียนต่าง ๆ เพราะมีกฎว่าต้องใส่ฟูริงานะคู่กับคันจิ รวมถึงใช้ในการเขียนคำศัพท์ที่เป็นภาษาญี่ปุ่นดั้งเดิมอีกมากมาย ตัวอักษรฮิรางานะมีต้นแบบมาจากตัวอักษรจีนและเริ่มพัฒนามาเรื่อย ๆ ตอนเริ่มแรกไม่ได้เรียกกันว่าฮิรางานะแต่เรียกกันว่า “อนนาเดะ” ที่แปลว่า มือของผู้หญิง เพราะผู้ที่เขียนและใช้งานส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง คำว่าฮิรางานะ หมายถึง อักษรพยางค์สามัญ แบบแรก ๆ ของฮิรางานะ มีสัญลักษน์หลายตัวที่เวลาอ่านออกเสียงเหมือนกัน แต่ว่าการเขียนนั้นแตกต่างกัน รัฐบาลญี่ปุ่นเข้ามาจัดรูปแบบ จัดระเบียบใหม่เมื่อปี พ.ศ 2489 จึงได้เป็นอักษรมาใช้จนถึงปัจจุบันนี่เอง
ตัวอักษรฮิรางนะทั้งหมดมี 46 ตัว โดยแต่ละตัวจะประกอบด้วยพยัญชนะและสระในตัวมีเสียงเฉพาะเป็นของตัวเอง ฮิรางานะแต่ละตัวไม่มีความหมาย แต่เมื่อนำฮิรางานะมาต่อกันก็จะกลายเป็นคำศัพท์ เวลาอ่านให้ออกเสียงตามตัวไป เช่นやま yama (ยามะ) แปลว่าภูเขา
ตัวอักษรฮิรางานะจะเรียกเป็น วรรค ในแต่ละวรรคจะประกอบด้วย 5 ตัวอักษร ไล่ตามเสียงสระแต่ละตัว นอกจากนี้ยังแบ่งเป็นฮิรางานะเสียงใส (เซขออนุญาตใช้วิธีเรียกนี้แทนการออกเสียงแบบธรรมดาทั่วไปนะคะ) เสียงขุ่น (การออกเสียงที่ทำให้มีลมออกมาน้อยลง แต่มีความก้อง หรือ สั่นของเส้นเสียงมากขึ้น) และเสียงกึ่งขุ่น (เสียงที่กักลมเอาไว้เล็กน้อยเวลาออกเสียง)
จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อเราสามารถอ่านฮิรางานะได้ ?
ในยุคสมัยนี้การค้นคว้าหรือศึกษาหาความรู้ข้อมูลใหม่ ๆ นั้นทำได้อย่างเพียงแค่ปลายนิ้วผ่านทางอินเตอร์เน็ต ยิ่งถ้าเรามีเครื่องมืออันทรงประสิทธิภาพอยู่ในมือ ย่อมช่วยให้การศึกษาของเราเปิดกว้างไม่สิ้นสุด ฮิรางานะ เป็นตัวอักษรที่ใช้โดยทั่วไปในหมู่คนที่ใช้ภาษาญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของภาษาเอง หรือผู้ที่ศึกษาภาษาญี่ปุ่นก็ตาม ดังนั้น เมื่อเราสามารถอ่านตัวอักษรฮิรางานะได้ การค้นคว้ายข้อมูล คำศัพท์ รูปประโยค สามารถทำได้โดยง่าย ลืมหนังสือทางลัดทันใจต่าง ๆ ไปได้เลย เมื่อเราสามารถค้นคว้าจากแหล่งข้อมูลที่เปิดกว้าง และมีความน่าเชื่อถือได้มากกว่า อีกทั้งการออกเสียงของเรายังเป็นธรรมชาติด้วย เพราะไม่ต้องพึ่งการออกเสียงที่ถอดคำออกมาเป็นภาษาไทยอีกแล้ว นี่สิถึงเรียกว่าการเรียนรู้เพื่อต่อยอดที่แท้จริง!
แนะนำให้อ่าน : เรียนภาษาญี่ปุ่นจำง่าย แค่ใช้เทคนิค “Pomodoro”
วิธีง่าย ๆ ที่จะช่วยให้เราจำตัวอักษรได้เร็วยิ่งขึ้น
ไม่มีทางลัด แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีเทคนิคนะคะ การจำตัวอักษรนั้นขึ้นอยู่กับบุคคลว่าถูกจริตกับเทคนิคแบบไหนกันบ้าง โดยเทคนิคคร่าว ๆ ที่เซพบเห็นนักเรียนใช้บ่อย ๆ มีดังนี้ค่ะ
- เปิดเสียงฟังไปพร้อมกับหัดคัด
- ออกเสียงไปด้วย คัดไปด้วย
- คัดซ้ำ ๆ จนกว่าจะจำได้
ส่วนเทคนิคของเซที่ใช้สอนนักเรียนมายาวนาน คือ เทคนิค “จินตนาการสำคัญกว่าความรู้ค่ะ” เอ๊ะ! เทคนิคอะไรล่ะนั่น 55+
ข้อสรุป
นั่นก็คือ การมองตัวหนังสือ ให้เป็นรูปภาพ ทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องสนุกค่ะ เทคนิคนี้รับรองโดยนักเรียนที่เรียนคอร์สตัวอักษรกับเซว่า เรียนปุ๊บสามารถอันได้ทันทีในคาบนั้น เป็นเทคนิคที่ช่วยการอ่านและการออกเสียงให้เราสามารถอ่านศัพท์ได้ในเวลาอันรวดเร็วค่ะ จินตนาการของแต่ละคนแตกต่างกัน ดังนั้น ก่อนที่เราจะตั้งแง่กับมันว่าเป็นสิ่งที่ยาก ลองมองให้เป็นศิลปะ เป็นรูปร่าง ๆ ต่าง ๆ ที่เราจำได้ และลองอ่านดูอีกทีนะคะ คราวนี้ง่ายขึ้นแน่นอน! ส่วนใครที่สนใจเรียนตัวอักษรญี่ปุ่นด้วยเทคนิคนี้ล่ะก็ ทักมาหาเซ็นเซได้เลยนะจ้ะ (ขอขายของนิดนึง 55+)
หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์แก่ผู้เรียนภาษาที่เพิ่งเริ่มต้นหรือกำลังคิดจะเริ่มต้นเรียนภาษาญี่ปุ่นนะคะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไร แต่การเริ่มต้นใหม่จะยากที่สุดตอนเริ่มเสมอค่ะ เมื่อเราก้าวขาก้าวแรกออกมาแล้ว ก้าวต่อไปมักจะง่ายขึ้นเสมอนะคะ ตัดสินใจแล้วลุยไปเลยค่า! ส่วนใครสนใจเรียนภาษาญี่ปุ่นออนไลน์ อย่าลืมติดตามเพจของเอริด้วยน้า~